ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์โดยอาจจะเกิดขึ้นจากการสังเกต การจดบันทึก การสัมภาษณ์ การสอบถาม นอกจากนั้นข้อมูลแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ข้อมูลตัวอักขระ ข้อมูลภาพ ข้อมูลตัวเลข ข้อมูลเสียง และข้อมูลอื่น ๆ โดยข้อมูลที่มีลักษณะที่ดีนั้น จะต้องถูกต้องและเชื่อถือได้ มีความสอดคล้องกัน ตรงตามความต้องการ ทันสมัย และสมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการตัดสินใจหรือแก้ปัญหา ด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านการค้าหรือธุรกิจ ด้านการเรียนหรือการทำงาน ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม
ต้นกำเนิดของข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเทอร์เน็ต บุคคล หรือสถานที่ สามารถให้ข้อมูลได้ 2 ประเภท ได้แก่ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูลได้โดยตรง จากการพบเห็นสิ่งต่าง ๆ การสังเกตหรือการสำรวจข้อมูลด้วยตนเอง และแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ได้จากการเรียบเรียงข้อมูลของผู้อื่น แล้วนำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์มาใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องสอบถาม สังเกต หรือหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลด้วยตนเอง
วัตถุประสงค์
1. หลังจากศึกษา “ความรู้เบื้องต้นของข้อมูล” แล้ว นักเรียนสามารถอธิบายความหมาย ประเภท ลักษณะ ประโยชน์และแหล่งได้ถูกต้อง
2. หลังจากศึกษา “การจัดการข้อมูล” แล้ว นักเรียนสามารถอธิบายวิธีการรวบรวมข้อมูล การประมวลผลข้อมูลและการสืบค้นข้อมูล ได้ถูกต้อง